เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๑๓๙ หรือประมาณ ๔๑๕ ปี มาแล้ว คนกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน คือ นายเชียงดี สมัยอาณาเขตการปกครองอยู่กับประเทศลาว สมัยนั้นเรียกว่า กรุงล้านช้าง สมัยสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบางกางท้าวและพ่อผาเมือง คนเชื้อสายบ้านนาดี อพยพมาจากน้ำปาด (จังหวัดอุตรดิตถ์) ลงมาตามแม่น้ำเหืองและแม่น้ำหมัน จนในที่สุดมาพบป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบไปด้วยหนองคลองบึงตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ พืชธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านน้ำปาด จัดตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยเรียกว่า บ้านนาล้อม (เดิมเรียกว่า นาอ้อม)
อพยพมาครั้งแรกเพียง ๑๗ ครอบครัว มีปรากฏนามตามภาษาโบราณเพียง ๑ คน คือนายเชียงดี(ท้าวดี) สันนิฐานว่าเป็นผู้บวชเรียนเป็นสามเณร จากนั้นลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ เรียกว่า เชียง (สมัยโบราณคำว่า เชียง หรือ ทิด แปลว่า บัณฑิต) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ จึงตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านนายเชียงดี มีภรรยาชื่ออะไรไม่ได้ระบุไว้ แต่เป็นคู่คิดที่ดีของนายเชียงดี ระบุแต่เพียงว่า นายเชียงดี เป็นผู้มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาดด้วยปัญญาจากการที่ได้บวชเรียนมาเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถชาวบ้านนาอ้อมจึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองประกอบ กับสมัยนั้นชอบตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อเจ้าเมืองตามประเพณีนิยม จึงเป็นที่มาแห่งเมืองเชียงดี หรือ นาดี ในปัจจุบัน
สำหรับตำบลนาดี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑– ๒๔๘๕ ซึ่งได้แยกออกมาจากตำบลหนองผือเนื่องจากตำบลหนองผือ ถูกยุบสั่งยุบและบางส่วนไปขึ้นอยู่กับตำบลด่านซ้าย และส่วนหนึ่งมาขึ้นอยู่กับตำบลนาดี สถานที่ตั้งตำบลอยู่กับตำบลนาดีที่ตั้งตำบลอยู่ที่บ้านนาดีหมู่ที่ ๑ โดยมีผู้บริหารคนแรก คือนายสวาสดิ์ จันทศร ต่อมาปี ๒๕๔๗ ได้รับการคัดเลือกผู้บริหารคนใหม่ คือ นายประเดิม จันทศร ซึ่งเป็นผู้บริหารคนแรกต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ยกฐานะเป็นสภาตำบลเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๘ และต่อมาสภาตำบลได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ มีนายประเดิม จันทศร เป็นประธานกรรมการบริหารฯ และนายเอี่ยม จันทศร เป็นประธานสภาฯ และเมื่อปี ๒๕๔๔ ได้หมดวาระได้เลือกตั้งใหม่ซึ่งมีนายลำพูน จันทศร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มีนายคำพันธ์ ฤทธิศักดิ์ เป็นประธานสภาฯช่วงเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๘ ได้เลือกตั้งใหม่ซึ่งมี นายสงคราม ศรีบุตรตา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมี นายหนูรัตน์ เนตรแสงศรี เป็นประธานสภาฯ ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ได้เลือกตั้งใหม่ซึ่งมีนายประวัฒน์ จันทศร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาดี ซึ่งมีนายหนูรัตน์ เนตรแสงศรี เป็นประธานสภาฯ จนถึงปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์แหล่งท่องเที่ยว
ต้นโพธิ์เสี่ยง สถานที่ตั้งอยู่กลางคูดิน(คันคู) ระหว่างหนองบ้านนาดีกับนากอใกล้กับบ้านนาล้อม อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร ประวัติความเป็นมาเป็นต้นโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวบ้านนาดีให้ความเคารพนับถือมากเล่าต่อกันมาว่า พ่อขุนบางกางท้าว พ่อขุนผาเมืองด่านซ้าย ยกทัพรบและมาพักอยู่ที่บริเวณชายทุ่งนาเชียงดี พ่อขุนบางกางท้าวย้ายทัพไปพักทัพที่บ้านนาน้ำท่วม ส่วนทัพพ่อขุนผาเมืองย้ายทัพไปพักที่เมืองด่านซ้าย จากนั้นมีพระยาเกียง(เจียง) ยกทัพไปรบกับกองทัพพ่อขุนบางกางท้าว เพื่อแย่งชิงบ้านนาน้ำท่วม แต่ยังไม่ทันได้สู้รบกัน พระยาเกียงระหว่างออกเดินทางไปรบเกิดดินถล่มทำให้ดินและหินทับร่างพระยาเกียงตาย พ่อขุนบางกางท้าวและพ่อขุนผาเมืองด่านซ้าย จึงได้แบ่งเขตเมืองกัน พ่อขุนบาง กลางท้าวอยู่ทางทิศตะวันตก และพ่อขุนผาเมืองอยู่ทางทิศตะวันตก โดยสร้างคูเมืองรอบเมือง ชื่อว่า“เมืองเชียงดี”และได้ปลูกต้นโพธิ์เสี่ยงขื้นบริเวณกลางคูเมืองการปลูกใช้ส่วนปลายยอดปลูกฝังลงไปในดินเอาโคนต้นชูขึ้นบนท้องฟ้า และตั้งจิตอธิฐานว่า ถ้าตนจะได้เป็นพระมหากษัตย์ที่มีอำนาจมีความยิ่งใหญ่ในอนาคตหรือรบชนะ ก็ขอให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงามตามคำอธิฐาน ยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ชาวบ้านได้เปลี่ยนผ่าแพรสี รอบต้นโพธิ์ และปักแขวนทุง(ธง) ในเดือนห้าของทุกปี ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างศาลพระภูมิถวาย เพื่อเป็นการเคารพนับถือตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
น้ำตกผาเลข ตั้งอยู่ทิศตะวันตก บ้านนาดี ประวัติความเป็นมา มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความประสงค์จะนำสิ่งก่อสร้างไปสมทบสร้างพระธาตุพนม ได้ใช้ล้อเกวียนบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ มาจากทางภาคกลางและจังหวัดพิษณุโลก เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของห้วยไผ่ (ต้นน้ำห้วยก๊วก) ทราบว่า พระธาตุพนมได้ทำการสร้างเสร็จแล้ว จึงได้นำสิ่งของที่ขนมา ไปบรรจุไว้ถ้ำนาดี และได้เขียนผังเลขไว้ที่หน้าผาหิน
ถ้ำนาดี ตั้งอยู่กลางลำห้วยก๊วก อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนาดี ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ประวัติความเป็นมา ถ้ำนาดี เดิมชื่อ“ถ้ำแก้ว” ในสมัยก่อนเล่ากันว่ามีลูกแก้วเสด็จลอยออกมาจากถ้ำก่อนที่ลูกแก้วจะลอยออกจากถ้ำจะได้ยินเสียงดังสนั่นหวั่นไหวคล้ายกับเสียงปืนใหญ่และลูกแก้วก็ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปทางทิศเหนือ โดยลอดไปที่ผาแก่งช้าง ที่บ้านปากหมัน และก็จะได้ยินเสียงดังขึ้นคล้ายกับครั้งแรก ส่วนมากจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้ค่ำ หรือเวลากลางคืนของเดือน ๕ แสงสว่างของลูกแก้วจะแวววับสวยงามมาก ในถ้ำนี้มีเครื่องประดับและสิ่งของมีค่ามากมาย เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง สร้อยแขน สร้อยคอ เข็มขัด เงินเสี้ยน เงินฮาง ในสมัยก่อนเมื่อถึงเวลาปีใหม่ช่วงเดือนห้าประตูถ้ำก็จะเปิดเครื่องประดับต่างๆจะลอยอยู่หน้าถ้ำ เพื่อให้ชาวบ้านหยิบยืมมาประดับการทำการเชิงบุญปีใหม่ (บุญสังขาร บุญแห่ดอกไม้) เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านก็จะนำเครื่องประดับไปส่งคืนไว้ที่หน้าถ้ำเหมือนเดิม ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาเรื่อยมา ปัจจุบันถ้ำได้ปิดแล้ว เพราะชาวบ้านบางคนไม่ซื่อสัตย์ ยืมไปแล้วไม่ส่งคืน ประกอบกับมีท้าวกอระเวกเข้าไปในถ้ำเพื่อจะเอาลูกแก้ว ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕ ดวง ลูกแก้วใหญ่จะอยู่กลางล้อมรอบด้วยลูกแก้วเล็กมี ๔ ลูก มีนางเทวดาเฝ้ารักษาอยู่ในถ้ำโดยใช้แสงสว่างจากลูกแก้วในการทอผ้า ท้าวกอระเวก เป็นผู้มีอาคมเข้าขมังเวทย์ได้ขอลูกแก้วจากนางเทวดา และได้อนุญาตให้เอาลูกแก้วลูกเล็กได้ แต่ท้าวกอระเวก ไม่ต้องการอยากได้ลูกใหญ่ก็เดินไปหยิบคว้าเอาลูกแก้วใบใหญ่ลูกแก้วก็ลอยถอยห่างเข้าไปในถ้ำเรื่อยๆไม่สามารถเอาได้ นางเทวดาโกรธมากจึงปิดปากถ้ำ ทำให้ท้าวกอระเวกออกมาไม่ได้ จึงเสกลูกมะนาวให้นำทางออกโดยปาลูกมะนาวนำทางออกไปเรื่อยๆ ไปทะลุที่น้ำตกผาแก่งช้าง บ้านปากหมัน ตำบลปากหมันปัจจุบัน